กิจกรรมชมรมเด็กไทยปลอดภัย  
 
 
 
เวทีเสวนาเพื่อเรียกร้องสิทธิความปลอดภัย
 
การประชุมนานาชาติภูมิภาคเอเชีย เรื่องชุมชนปลอดภัย ครั้งที่ 4
เด็กคิด เด็กทำเพื่อชีวิตที่รอดปลอดภัยพร้อมประกาศข้อเรียกร้องต่อรัฐบาล !!

 

ในการประชุมนานาชาติฯ ครั้งนี้ เยาวชน ไทยได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนและสร้างมิติใหม่ในการบูรณาการงาน
ความปลอดภัยร่วมกับผู้ใหญ่ โดยมีการจัดเสวนาเยาวชนเพื่อเรียกร้องสิทธิความปลอดภัย เรื่อง มอเตอร์ไซค์ .. จำเป็นหรือไม่ ?
และ กำลังใจจากเพื่อน .. สู่เพื่อนชาวใต้ (เด็กกับผลกระทบความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้) ในวันที่ 22 – 23 พฤศจิกายน 2550

เพื่อให้ตัวแทนเยาวชน 200 คน ได้มารวมตัวกันพูดคุยเพื่อสะท้อนมุมมอง ความคิด ความรู้สึกของเยาวชนที่มีต่อปัญหาความสูญเสีย
ความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับเพื่อนๆ ของพวกเขาจากอุบัติเหตุที่เกิดจากรถจักรยานยนต์ และ หาข้อสรุปว่าจากความคิดของเด็กและเยาวชนว่า
จะยกเลิกกฎหมายห้ามเด็กอายุ 15 ปีขับขี่มอเตอร์ไซค์หรือไม่ด้วยเหตุผลว่าตั้งแต่มีกฎหมายนี้ออกมาก็ไม่เห็น เกิดการปฏิบัติอย่างจริงจัง
เด็กก็ยังขี่มอเตอร์ไซค์ได้อย่างเสรีและเสียชีวิตจำนวนมาก รวม ถึงพูดคุยเพื่อสะท้อนมุมมอง ความคิด ความรู้สึกของเยาวชน
ที่มีต่อปัญหาความรุนแรง ความสูญเสียที่เกิดขึ้นกับเพื่อนๆ ของพวกเขาจากผลกระทบของเหตุการณ์ความรุนแรง

 
ข้อสรุป “เวทีเสวนาเพื่อเรียกร้องสิทธิความปลอดภัย เรื่อง มอเตอร์ไซค์..จำเป็นหรือไม่?”
 
แม้ว่าประเทศไทยจะมีกฎหมายห้ามเด็กที่อายุต่ำกว่า 15 ปีขับขี่มอเตอร์ไซค์ มีกฎหมายบังคับให้สวมหมวกกันน็อค
กฎหมายห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แก่เด็กที่อายุต่ำกว่า 18 ปี รัฐบาลมีการรณรงค์ในช่วงเทศกาลต่าง ๆ เป็นประจำทุกปี
แต่ในความเป็นจริงแล้ว เด็กไทยก็ยังคงใช้มอเตอร์ไซค์กันอย่างเสรีภายใต้ความเสี่ยงต่างๆ ประกอบกับพ่อแม่อนุญาต
ผู้ใหญ่ในชุมชนไม่คิดว่าเป็นความเสี่ยง นักวิชาการให้ความสนใจน้อยที่จะศึกษาเหตุผลที่เด็กขับขี่มอเตอร์ไซค์
และไม่มีทางเลือกอื่นที่เหมาะสมเพื่อทดแทนการใช้มอเตอร์ไซค์ที่รัฐจะลงทุน
 
แม้ว่าผู้ใหญ่หลายๆ คนจะเป็นห่วงและเห็นว่ามันอันตราย
แต่ความจำเป็นที่พวกเราต้องใช้มอเตอร์ไซค์ กลับไม่มีใครหาทางออกที่เหมาะสมให้พวกเราได้เลย บอกเราว่ามันอันตราย
บอกเราว่าวุฒิภาวะยังไม่ดีพอที่จะเป็นผู้ขับขี่ บอกเราว่ามันไม่จำเป็น แต่ไม่มีทางเลือกอื่นในการเดินทางแก่พวกเราได้อย่าง
เหมาะสมเพียงพอ และปลอดภัย ดังนั้นเสียงส่วนใหญ่ของเยาวชนไทยทั่วประเทศที่มาร่วมเสวนา เห็นพ้องต้องกันว่า
เด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี สามารถขับขี่มอเตอร์ไซค์ได้ แม้ว่าจะขัดต่อกฎหมายที่มีอยู่ แต่เรามีความจำเป็น
และมีข้อเสนอต่อรัฐบาลและผู้เกี่ยวข้องดังต่อไปนี้
 
  1.อุบัติเหตุไม่ได้เกิดจากตัวเด็กเพียงอย่างเดียว สภาพแวดล้อม โครงสร้างถนน ก็เป็นปัจจัยเสี่ยงเช่นเดียวกัน
อยากให้รัฐบาลเข้มงวดกับผู้รับผิดชอบการสร้างถนน และสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยแก่การขับขี่ที่ปลอดภัยมากขึ้น
ส่วนผู้ใหญ่ที่เป็นผู้ขับขี่ก็เช่นเดียวกัน พบว่าหลายคนประมาท
ฉะนั้นผู้ใหญ่ก็ต้องเป็นตัวอย่างที่ดีแก่เด็กด้วย ไม่ใช่โทษแต่เด็กเพียงอย่างเดียว
 
     
  2. ถ้าไม่อยากให้เด็กไทยขี่มอเตอร์ไซค์เพียงเพราะความเท่และเลียนแบบดาราวัยรุ่น พรีเซ็นเตอร์
ก็ควรให้บริษัทผู้ผลิตหยุดจ้างดาราวัยรุ่นมาเป็นพรีเซ็นเตอร์รถมอเตอร์ไซค์เสียที
 
     
  3.อยากให้การสอบใบขับขี่มีมาตรฐานคุณภาพมากกว่านี้ ไม่ใช่การซื้อหาได้ด้วยเงิน
เพื่อเป็นการรับประกันว่าเยาวชนไทยที่สอบผ่าน สามารถขับขี่ได้อย่างปลอดภัยบนท้องถนน
 
     
  4.รัฐบาลต้องเอาจริงเอาจังในเรื่องการกำจัดความเสี่ยงที่จะทำให้เด็กดีๆ ที่ขี่มอเตอร์ไซค์
ด้วยความจำเป็น และถูกกฎจราจรต้องบาดเจ็บและตายได้
เช่น ปราบปรามการซื้อขายเหล้าให้เด็กที่อายุต่ำกว่า 18 ปีอย่างจริงจัง
 
     
  5.รถโดยสารสาธารณะ เช่น รถเมล์ที่คิดว่าปลอดภัย แต่เด็กก็ยังโดนล้อทับตายจนไม่รู้ว่ากี่คนต่อกี่คน
รถนักเรียนที่คิดว่าปลอดภัยที่สุดก็ยังเกิดอุบัติเหตุเป็นว่าเล่น การโดยสารทางเรือ เรือก็ยังล่มอีก
แล้วจะให้เราฝากชีวิตไว้กับพาหนะสาธารณะได้อย่างไร สู้ขี่มอเตอร์ไซค์เองเสียดีกว่า
ดังนั้นขอให้รัฐบาลเอาใจใส่ดูแลระบบขนส่งสาธารณะให้ดีกว่านี้ด้วย
 
     
  6.เพื่อให้สอดคล้องกับข้อเสนอของพวกเราที่ว่าเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีสามารถขี่มอเตอร์ไซค์ได้
อยากให้รัฐบาลและผู้เกี่ยวข้องช่วยพิจารณากฎหมายห้ามเด็กที่อายุต่ำกว่า 15 ปี ขับขี่รถมอเตอร์ไซค์
ด้วยเหตุผลว่า กฎหมายนี้ไม่เกิดการปฏิบัติอย่างจริงจัง เนื่องด้วยในที่ประชุมมีเยาวชนฝ่ายหนึ่งเห็นว่าควรยกเลิกไปเลย
เพราะมีกฎหมายก็เหมือนไม่มี ส่วนเยาวชนอีกฝ่ายเห็นว่าไม่ควรยกเลิก
ดังนั้น พวกเราขอฝากให้ท่านช่วยพิจารณากฎหมายนี้ให้เหมาะสมกับสภาพความเป็นจริงด้วย
 
     
  7.ข้อเสนอทั้งหมดของพวกเรา ต้องการให้มีการลงนามโดยผู้นำประเทศ
และลงนามโดยตำแหน่ง ไม่ใช่นามบุคคล เพราะถ้าลงนามบุคคล
เมื่อท่านหมดวาระไปในขณะที่ดำเนินการไม่เสร็จสิ้น เราก็ไม่รู้ว่าจะไปตามเรื่องต่อได้อย่างไร
และไม่รู้ว่าผู้นำคนใหม่จะสนใจ และรับผิดชอบต่อข้อเสนอของเราหรือไม่
 
     
 

ทั้งนี้ ถ้าท่านเห็นว่าข้อเสนอของพวกเราไม่เหมาะสม ก็ขอให้รัฐบาลและผู้เกี่ยวข้อง
หาทางออกที่ท่านคิดว่าเหมาะสม และถามความต้องการของพวกเราด้วย

ขอขอบพระคุณเป็นอย่างสูง

 
     
ข้อสรุป “เวทีเสวนาเพื่อเรียกร้องสิทธิความปลอดภัย เรื่อง กำลังใจจากเพื่อน .. สู่เพื่อนชาวใต้”
 
จากเหตุการณ์ความไม่สงบและความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น
ได้ก่อเกิดผลกระทบต่อเด็กและเยาวชนในพื้นที่
การที่เด็กสูญเสียบุคคลในครอบครัวการไม่รู้ซึ่งสิทธิของเด็กและเยาวชน
การถูกบังคับ การไม่ได้รับการดูแลเอาใจใส่ ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการก่อการไม่สงบในหลากรูปแบบ
เช่น การใช้เด็กและเยาวชนอยู่ด้านหน้าของการก่อการชุมนุม จาก สถานการณ์เหล่านี้
ส่งผลให้เด็กและเยาวชนต้องอยู่อย่างหวาดกลัวและหวาดระแวงผู้คนรอบข้างเกิด
ความแตกแยกในกลุ่มเด็กและเยาวชนที่ได้รับผลกระทบ ความโกธรแค้นฝ่ายตรงข้างนำมา
ซึ่งการแก้แค้นแบบรุนแรงเหล่านี้เป็นปัญหาใหญ่ ที่ทุกฝ่ายต้องตระหนักและเยียาวยาแก้ปัญหา
 
ผลที่เกิดขึ้นกับเด็กจากเหตุการณ์ความรุนแรง
  1. เด็กที่ได้รับผลกระทบจากการสูญเสียบุคคลในครอบครัวจากเหตุการณ์ความไม่สงบ
บางส่วนได้กลายเป็นผู้กระทำเสียเอง ด้วยวิธีการถูกชักจูง ชวนเชื่อ
การบังคับโดยเด็กไม่เต็มใจ และส่วนน้อยที่กระทำด้วยความเต็มใจ
 
     
  2. เด็กเกิดทัศนคติ ความรู้สึกเกลียดชังฝ่ายตรงข้าม (ข้าราชการ – ชาวบ้าน(มุสลิม))
ด้วยเชื่อว่าฝ่ายตรงข้ามทำร้ายคนในครอบครัวตนเอง กดขี่ ข่มเหง เอารัดเอาเปรียบ
 
     
  3. ผู้ก่อการร้ายใช้เด็กและผู้หญิงเป็นเครื่องมือ
(เพราะผู้ต้องสงสัยก่อการร้ายถูกจับกุม) เช่น ให้เด็กเป็นด่านหน้าเพื่อต่อรองกับฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐ เรียกร้อง ยื่นข้อเสนอ
 
     
  4. สังคม สาธารณชน สื่อมวลชน ให้ความสนใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่น้อยมากที่จะยื่นมือเข้าไปช่วยเหลืออย่างเข้าใจและตรงจุด  
 
  *ภาครัฐ คลายปมปัญหาไม่ได้ ไม่ตรงจุด ในขณะที่ต้องสูญเสียบุคลากรเจ้าหน้าที่รัฐ ชาวบ้านผู้บริสุทธิ์ไปทุกวันๆ  
  *สังคมให้ความสนใจเป็นช่วงๆ ตามการนำเสนอของข่าว ยังไม่พบพลังมวลชน พลังประชาชน  
  *สื่อมวลชนเกาะติดสถานการณ์การเสียชีวิต ซึ่งมักจะนำเสนอแต่ภาพข่าวการตาย
บาดเจ็บ ความเสียหาย วางระเบิด ฯลฯ แต่พบน้อยมากที่จะเสนอถึงผลกระทบของประชาชนแบบลึกซึ้ง
หรือนำเสนอเพื่อให้เกิดพลังมวลชนในการร่วมรู้สึก ตระหนัก
และจัดการแก้ไขด้วยพลังประชาชน ขาดการวิเคราะห์เพื่อเชื่อมโยง หรือนำเสนอด้านบวกเพื่อให้เกิดกำลังใจ
 
  *เด็กและเยาวชนในพื้นที่ อยู่อย่างหวาดกลัว บ้างสูญเสีย บ้างโกรธแค้น
บ้างเข้าพวกกับกลุ่มก่อการร้าย บ้างจำยอม จำนน เด็กขาดการพัฒนาในหลายๆ ด้านอย่างเท่าเทียมกับเด็กอื่นๆ
เช่น โรงเรียนถูกเผา ครูขาดแคลน ไร้ที่เรียน ขาดแคลนกิจกรรมพัฒนา
พลังเยาวชนกลายเป็นพลังเงียบ เสียงเยาวชนคือเสียงเงียบ ความคิดของเด็กถูกปิดกั้น
 
  *เด็กและเยาวชนทั่วประเทศ ขาดการมีส่วนร่วมทั้งการรับรู้ข้อเท็จจริง ตระหนัก เห็นใจเพื่อนๆ เยาวชนที่ได้รับผลกระทบในพื้นที่ 3 จังหวัด  
     
  ปัญหาและข้อเสนอต่อรัฐบาลและผู้เกี่ยวข้อง  
 

การศึกษา
-ขาดแคลนบุคคลกรครูอาจารย์
ศักยภาพของครูอาจารย์ไม่ได้รับการส่งเสริมพัฒนาและครูอาจารย์ไม่ได้สอนตามวุฒิการศึกษาที่จบมา

-สถานที่ศึกษาไม่ได้รับการพัฒนา ถูกทำลายมากกว่าการคงอยู่และฟื้นฟู

-ขาดแคลนสื่อการเรียนการสอนที่มีมาตรฐาน สื่อเทคโนโลยี เช่น คอมพิวเตอร์ เครื่องมือทดลองวิทยาศาสตร์ ฯลฯ

-ขาดทุนการศึกษา และการส่งเสริมให้เห็นความสำคัญของการศึกษาต่อ

-โอกาสทางการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยยังไม่เปิดกว้าง

-สถานศึกษาบางที่ไม่เปิดใจสนับสนุนเด็กนักเรียนทำกิจกรรมอื่นนอกจากการเรียน เพราะคิดแต่ว่าเด็กจะหนีเรียน ไปก่อการร้าย

 
     
  ข้อเสนอต่อการแก้ไข  
 

(1)รัฐต้องจัดหาครูอาจารย์ที่จะมาสอนนักเรียนให้ตรงตามวุฒิการศึกษา

(2) รัฐต้องจัดหางบประมาณสนับสนุนให้กับโรงเรียนรัฐและเอกชนขนาดเล็ก
โรงเรียนสอนศาสนาขนาดเล็ก ในการพัฒนาโรงเรียนให้มีอุปกรณ์การเรียน
อุปกรณ์สาธารณูปโภคต่างๆให้ทั่วถึง

(3)รัฐต้องจัดสรรทุนการศึกษาให้ทั่วถึงโดยไม่แบ่งแยกชนชั้นและระบบเส้นสาย

(4)รัฐต้องจัดหาสถานที่และอาจารย์ผู้มีความรู้จัดการสอนให้กับนักเรียนที่จะศึกษาต่อให้ทั่วถึง

 
     
 

ครอบครัวและสังคม
(1)ครอบครัวขาดผู้นำ ปัญหาหย่าร้าง ปัญหาเด็กกำพร้า การไปมาหาสู่ญาติพี่น้องต่างพื้นที่ห่างเหินมากขึ้น

(2)เกิดความแตกแยกระหว่างคนไทยพุทธและคนไทยมุสลิม

(3)สังคมภายนอกไม่ยอมรับเด็กใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ เช่น การศึกษาต่อ การสมัครงาน ฯลฯ

(4)สื่อนำเสนอข่าวเหตุการณ์พื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ในทางลบมากเกินไป

 
     
  ข้อเสนอต่อการแก้ไข  
  สื่อควรเสนอมุมดีๆ บ้างมากกว่าที่จะนำเสนอแต่ความรุนแรง เช่น นำเสนอเกี่ยวกับกิจกรรม
ของกลุ่มเยาวชนที่เป็นกิจกรรมดี ชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีๆ
วัฒนธรรมประเพณีดีๆ ควรนำออกไปเสนอให้คนข้างนอกรับรู้บ้าง ไม่ใช่มัวแต่นำเสนอแต่เรื่องความรุนแรง
 
     
  ยาเสพติด
ปัญหาเรื่อง 4 x 100 ยัง เป็นปัญหาใหญ่สำหรับเด็กและเยาวชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้
และยาเสพติดชนิดนี้ก็ยังไม่มีทางที่จะลดปริมาณคนเสพลงแต่กลับเพิ่มคนเสพมาก ยิ่งขึ้น ทำให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมามากมาย
 
     
  ข้อเสนอต่อการแก้ไข  
 

1)รัฐควรที่จะปราบปรามอย่างจริงจัง กำหนดโทษของผู้กระทำผิดให้ชัดเจนและเด็ดขาดหรือกำหนดโทษให้เท่ากับผู้ที่เสพยาบ้า

(2) รัฐและประชาชนในพื้นที่ต้องช่วยกันรณรงค์ประชาสัมพันธ์ถึงโทษภัยหรือผลกระทบ
ที่มีต่อร่างกาย และรัฐควรสนับสนุนให้มีการจัดกิจกรรมต่างๆให้กับเยาวชน เช่น กิจกรรมกีฬา ค่ายพัฒนาผู้นำ
เยาวชนอาสาพัฒนา เพื่อให้เยาวชนใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์

 
     
 

สิทธิและการมีส่วนร่วม

(1)ผู้ใหญ่ปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นและโอกาสในการมีส่วนร่วมทางสังคมของเด็กและเยาวชน

(2)ผู้ใหญ่ยัดเยียดความคิด คิดแทนเด็ก ตัดสินแทนเด็ก โดยไม่มีการสอบถาม ไม่รับฟัง ถึงความต้องการว่าต้องการหรือไม่

(3)ผู้ใหญ่ดีแต่พูด ให้ความหวัง แต่แล้วก็ไม่เห็นมีอะไรดีขึ้นเลย

(4) สิทธิการคุ้มครองในกระบวนการยุติธรรม เช่น การเป็นพยาน เป็นผู้ต้องหายังไม่ได้กระทำอย่างเคร่งครัด
และตามกระบวนการข้อตกลงอนุสัญญาว่าด้วยเรื่องสิทธิเด็ก

 
     
  ข้อเสนอต่อการแก้ไข  
 

(1)ผู้ใหญ่ต้องเปิดใจ เปิดหู เปิดตา เพื่อที่จะยอมรับความคิดเห็นของเด็กเยาวชน
เปิด โอกาสในการเรียนรู้ เปิดเวทีแสดงความคิดเห็น สนับสนุนการมีส่วนร่วม
ไม่ว่าจะผิดหรือถูกและพร้อมที่จะให้คำแนะนำเป็นที่ปรึกษาที่ดีให้กับเด็ก เยาวชน

(2) ผู้ใหญ่ต้องเลิกตัดสินว่าปัญหาสังคมเกิดขึ้นเพราะเด็กเยาวชน
ผู้ใหญ่ควรเอาใจเด็กมาใส่ใจตัวเองนึกถึงตอนที่ตนองเป็นเด็ก เช่น เทศกาลวันแห่งความรัก
ผู้ใหญ่กลับชอบคิดว่าเป็นวันที่เด็กเยาวชนมีเพศสัมพันธ์มากที่สุด ควรมองในด้านดีให้มากกว่าด้านลบ

(3) ผู้ใหญ่ต้องส่งเสริมสิทธิขั้นพื้นฐานที่เด็กเยาวชนจะได้รับ เช่น การศึกษาต้องทัดเทียมเหมือนส่วนกลาง
การสาธารณสุข การคุ้มครองเด็กเยาวชนในกระบวนการยุติธรรม ทั้งเป็นพยาน ผู้ต้องหา ผู้ต้องสงสัย
ต้องกระทำอย่างเคร่งครัดตามกระบวนการอนุสัญญาว่าด้วยเรื่องสิทธิเด็ก ต้องมีผู้ปกครอง นักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ ฯลฯ

(4)รัฐต้องเล็งเห็นความสำคัญในการส่งเสริมการจัดตั้งกลุ่มเยาวชนในพื้นที่ หรือส่งเสริมกลุ่มเยาวชนที่จัดตั้งมานาน
และทำงานเพื่อสังคมมานาน ต้องได้รับงบประมาณในการทำกิจกรรมเพื่อเป็นพลังผลักดันในการพัฒนาสังคมต่อไป

 
     
 

ทั้งนี้ ข้อเสนอของพวกเราทั้งหมด เราไม่ต้องการให้รัฐบาลและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องรับฟังแล้วร่วมรู้สึก
หรือเห็นพ้องต้องกันกับเราเพียงอย่างเดียว หรือรับรู้แล้วก็เพิกเฉยเหมือนที่ผ่านมา
แต่พวกเราต้องการให้เกิดการปฏิบัติอย่างจริงจังและเห็นผลเสียที ช่วยหยุดและเยียวยาความสูญเสียของพวกเราด้วยเถิด


ขอขอบพระคุณเป็นอย่างสูง

 
     
 
 
 
   
 
 
  โครงการ กิจกรรมชุมชนปลอดภัยสำหรับเด็กชุมชนเทศบาลทับกวาง  
  เวทีเสวนาเยาวชนเพื่อเรียกร้องสิทธิความปลอดภัย (การประชุม safethai2007)  
  ชมรมเด็กไทยปลอดภัยซอยสวนเงิน กรุงเทพฯ
 
  ชมรมเด็กไทยปลอดภัยซอยสุเหร่า (เพชรบุรี 7 ) กรุงเทพฯ  
 
 
  แกนนำชมรมเด็กไทยปลอดภัย