ประวัติความเป็นมา .. ชมรมเด็กไทยปลอดภัย

จากการศึกษาการตายของเด็กไทยในเวลา 7 ปี (2542-2548) พบว่า
เด็กอายุ 1-14 ปีตายทั้งสิ้น 61,864 ราย คิดเป็นอัตราการตาย 59 คน /100,000 คน / ปี
เป็นการตายจากอุบัติเหตุและการบาดเจ็บจำนวน 23,457 ราย เฉลี่ยปีละ 3,351 ราย
อัตราการตาย 22 คน / 100,000 คน / ปี การจมน้ำ เป็นสาเหตุนำการตายอันดับหนึ่งในเด็ก

ในช่วงระยะเวลา 7 ปีนี้ มีเด็กอายุ 1-14 ปีตายจากการจมน้ำจำนวน 10,371 ราย เฉลี่ยปีละ 1481 ราย
อัตราการตาย 9.8 คน/100,000 คน/ ปี คิดเป็นร้อยละ 44 ของการตายจากอุบัติเหตุและการบาดเจ็บ
และร้อยละ 16.7 ของการเสียชีวิตทั้งหมด การจราจรและขนส่ง ตามมาเป็นอันดับสอง
มีเด็กอายุ 1-14 ปีตายจากการขนส่ง จำนวน 5049 ราย เฉลี่ยปีละ 721 ราย
คิดเป็นอัตราการตาย 4.7 คน / 100,000 คน/ ปี ร้อยละ 21 ของการตายจากอุบัติเหตุและการบาดเจ็บ
และร้อยละ 8.1 ของการตายทั้งหมด ส่วนสาเหตุอื่น ๆ ที่พบได้ตามมาคือ การขาดอากาศหายใจจากสาเหตุต่างๆ
กระแสไฟฟ้า ตกจากที่สูง และอื่น ๆ จำนวน 7779 ราย เฉลี่ยปีละ 1111 ราย คิดเป็นอัตราการตาย 7.4 คน/100,000 คน/ ปี
คิดเป็นร้อยละ 33.2 ของการตายจากอุบัติเหตุและการบาดเจ็บ และร้อยละ 12.6 ของการตายทั้งหมด

     
  โครงการเด็กไทยปลอดภัย ดำเนินงานด้านการป้องกันอุบัติเหตุและการบาดเจ็บในเด็กทั่วประเทศ
โดยมีแนวปฏิบัติว่า
การบาดเจ็บในเด็กทุกชนิดสามารถป้องกันได้โดยการสร้างกระบวนการชุมชนให้ตระหนักถึงปัญหา
มีความสามารถในการวินิจฉัยปัจจัยเสี่ยง และดำเนินการได้ด้วยพลังศักยภาพของชุมชน
 
     

การดำเนินงานโครงการชุมชนปลอดภัย ตั้งแต่ พ.ศ.2546 (ภายใต้โครงการเด็กไทยปลอดภัย)
ได้ขยายผลการดำเนินงานสู่กลุ่มเยาวชนในชุมชนปลอดภัยนำร่อง
เพราะเยาวชนในชุมชนต้องการการมีส่วนร่วม เป็นแรงเสริมที่พร้อมจะเป็นกำลังหลักในการเสริมสร้างความปลอดภัยแก่ตนเอง
ครอบครัว ชุมชน และประเทศชาติอย่างแท้จริง จึงเป็นที่มาของการจัดตั้งชมรมยุวชนกู้ชีพ เพื่อสนับสนุนให้เยาวชนที่สนใจและ
มีความสามารถในพลังสร้างสรรค์กิจกรรมสาธารณประโยชน์ ได้มีโอกาสร่วมค้นหาปัญหา ร่วมคิด
ร่วมทำเกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ซึ่งผลงานที่ปรากฏนั้นมีส่วนเชื่อมโยงกับการป้องกัน แก้ไขการบาดเจ็บและ
เสียชีวิตจากความไม่ปลอดภัย เช่น การรณรงค์ป้องกันอุบัติเหตุ การรวมกลุ่มเฝ้าระวังอุบัติภัย ร่วมแก้ไขจุดเสี่ยงอันตรายในชุมชน
ผลิตสื่อสร้างความตระหนักเรื่องความปลอดภัย ฯลฯ

อีกทั้งยังสามารถนำองค์ความรู้ รูปแบบกิจกรรมรณรงค์ไปเป็นแบบอย่าง
เผยแพร่สู่ชุมชน เชื่อมโยงองค์กรภายนอก นำไปสู่การประสานเครือข่าย

     
 

ชมรมยุวชนกู้ชีพ เกิดขึ้นจากสมาชิกเยาวชนจาก 5 ชุมชนปลอดภัยนำร่อง ในปี 2546  ได้แก่ ชมรมยุวชนกู้ชีพซอยสวนเงิน  ชมรมยุวชนกู้ชีพซอยสุเหร่า(เพชรบุรี 7) กรุงเทพมหานคร  ชมรมยุวชนกู้ชีพเกาะจันทร์  จ.ชลบุรี  ชมรมยุวชนกู้ชีพเนินหัวโล้ จ.พิจิตร   และชมรมยุวชนกู้ชีพตลาดเกรียบ จ.อยุธยา   ต่อมาในปี 2547 ชุมชนปลอดภัยได้ขยายการดำเนินงานเพิ่มอีก 6 ชุมชน ส่งผลให้ชมรมยุวชนกู้ชีพ ได้ขยายออกไปอีก 6 แห่ง  รวมเป็น 11 แห่ง  และได้เปลี่ยนชื่อเป็น   ชมรมเด็กไทยปลอดภัย   จนถึงปัจจุบัน ได้แก่

 
 
       
    • ชมรมเด็กไทยปลอดภัยซอยสวนเงิน  กรุงเทพฯ
    • ชมรมเด็กไทยปลอดภัยซอยสุเหร่า  กรุงเทพฯ
    • ชมรมเด็กไทยปลอดภัยเกาะจันทร์  จ.ชลบุรี
    • ชมรมเด็กไทยปลอดภัยตลาดเกรียบ  จ.อยุธยา
    • ชมรมเด็กไทยปลอดภัยวังทรายพูน (เนินหัวโล้เดิม)  จ.พิจิตร
    • ชมรมเด็กไทยปลอดภัยบ้านด่านชัยพัฒนา-วังสุเทพ จ.สระแก้ว
    • ชมรมเด็กไทยปลอดภัยวังสมบูรณ์ จ.สระแก้ว
    • ชมรมเด็กไทยปลอดภัยบ้านหนองกง จ.บุรีรัมย์
    • ชมรมเด็กไทยปลอดภัยบ้านกระโพธิ์ – เริงรมย์  จ.ศรีสะเกษ
    • ชมรมเด็กไทยปลอดภัยบ้านเขาดิน  จ.พิษณุโลก
    • ชมรมเด็กไทยปลอดภัยตำบลถนนใหญ่  จ.ลพบุรี
 
     
 

ต่อมาในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2548 เกิดแนวคิดใหม่ว่า ชมรมเด็กไทยปลอดภัย
น่าจะมีตัวแทนจากชมรมฯ ในชุมชนเข้ามาเป็นผู้แทนในส่วนกลางเพื่อขับเคลื่อนงานในระดับสังคมและประเทศมากขึ้น
อีกทั้งเป็นส่วนเชื่อมโยงชมรมฯ ทั้ง 11 แห่ง ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน และเกิดความสามัคคีในหมู่คณะ

ดังนั้นแกนนำชมรมเด็กไทยปลอดภัย (Central Committee of Safe Kids Thailand Club)
จึงถือกำเนิดขึ้นจากตัวแทนสมาชิกทั้ง 11 ชมรมฯ และสร้างสรรค์โครงการ / กิจกรรมดีๆ อย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน

 
     
 

โครงสร้างชมรมเด็กไทยปลอดภัย

 
 
 
     
 
แผนผังการมีส่วนร่วมของเยาวชนในเรื่องการสร้างเสริมความปลอดภัย